ประโยคที่ว่า ใช้แรงทำเงิน แล้วปล่อยให้เงินทำงาน มักจะเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับการลงทุนแทบทุกประเภท โดยหนึ่งในนั้นมีการลงทุนใน “ตราสารหนี้” เช่นกัน วันนี้เราจะมาทำความรู้จักตราสารหนี้คืออะไร ช่วยให้นักลงทุนมือใหม่ได้เข้าใจก่อนตัดสินใจซื้อ
ตราสารหนี้คืออะไร และผู้ซื้อตราสารคือใคร
ตราสารหนี้ หมายถึง ตราสารทางการเงิน ที่ผู้ถือมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ในขณะที่ผู้ออกตราสารหนี้คือลูกหนี้ ซึ่งการลงทุนตราสารหนี้ คือ นักลงทุนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้จ่ายซื้อตราสาร ถือเป็นการให้เงินกู้ยืมแก่ผู้ออกตราสาร โดยผู้ถือตราสารหนี้ ผลตอบแทนจะได้รับในรูปแบบของ “ดอกเบี้ย” อย่างสม่ำเสมอในระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ และได้รับ “เงินต้น” คืนเมื่อครบกำหนดอายุ เช่น 5 เดือน 1 ปี , 5 ปี, 10 ปี หรือ ไม่มีกำหนด (Perperual Bond)
ประเภทตราสารหนี้มีอะไรบ้าง
ตราสารหนี้ (Bond) สามารถแบ่งออกได้หลายประเภท แต่ถ้าหากแบ่งตามประเภทผู้ออกตราสารหนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
1. ตราสารหนี้ภาครัฐ
ตราสารหนี้ภาครัฐ คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย
- กระทรวงการคลัง ซึ่งจะออกพันธบัตรรัฐบาลหรือตั๋วคลัง ให้ประชาชนเป็นผู้ซื้อและถือเป็นเจ้าหนี้ คือ รัฐบาลยืมเงินจากประชาชนเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยผ่านการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐ
- รัฐวิสาหกิจ ออกบัตรธบัตรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอาจมีการค้ำประกันจากรัฐบาล เพื่อนำเงินที่ได้ในการจำหน่ายพันธบัตรฯ ไปใช้ในโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกตราสารหนี้ เรียกว่า พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อใช้ในเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายทางการเงิน
2. ตราสารหนี้เอกชน
ตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชนทั่วไป ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ได้แก่
- ตั๋วแลกเงิน คือ ตราสารการเงินระยะสั้น มีอายุไม่เกิน 270 วัน มักจะเรียกกันว่า Discount Bond หรือ Zero conpon Bond เพราะไม่มีดอกเบี้ย ขายแบบมีส่วนลดจากราคาหน้าตั๋ว และเมื่อครบกำหนดผู้ลงทุนจะได้รับเงินเท่ากับราคาหน้าตั๋ว โดยจะได้กำไรในส่วนต่างจากราคาหน้าตั๋วที่หักจากส่วนลดที่ซื้อได้ในตอนแรก และสามารถทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ โดยส่วนใหญ่จะมีสถาบันการเงินค้ำประกัน หรือธนาคารเป็นผู้รับรอง
- หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ระยะยาว ที่มีอายุเกิน 270 วัน แบ่งจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ และชำระเงินต้นเมื่อครบกำหนด ออกโดยภาคเอกชนเพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในกิจการต่าง ๆ ขององค์กรนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขยายกิจการ ขยายสาขา โดยหุ้นกู้นี้จะมีหลายแบบด้วยกัน มีทั้งแบบหุ้นกู้มีประกัน หุ้นกู้ไม่มีประกัน หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ หรือ หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
- หุ้นกู้มีประกัน คือ หุ้นกู้มีการให้หลักประกันแก่ผู้ถือหุ้น เช่น ที่ดิน อาคาร กรณีที่บริษัทหรือองค์กรไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้นให้ได้ ผู้ถือหุ้นจะมีสิทธิในหลักประกันนั้น ๆ ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น (ผู้ถือหุ้นไม่ด้อยสิทธิ์ หรือ ผู้ถือหุ้นด้อยสิทธิ์ เป็นต้น)
- หุ้นกู้ด้อยสิทธิ คือ ผู้ถือหุ้นมีสิทธิด้อยกว่าเจ้าหนี้รายอื่น อย่าง ผู้ถือหุ้นกู้มีประกัน ผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ แต่ยังสูงกว่าลูกหนี้ (เจ้าของ) หากองค์กรหรือบริษัทไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ย เงินต้น หรือล้มละลาย ผู้ถือหุ้นด้อยสิทธิจะได้รับชำระเงินคืนตามลำดับ ถัดจากเจ้าหนี้ที่เป็น ผู้ถือหุ้นมีประกัน ผู้ถือหุ้นไม่ด้อยสิทธิ
ตราสารหนี้ซื้อที่ไหนได้บ้าง
หากต้องการซื้อตราสารหนี้ภาครัฐบาล สามารถซื้อตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลัง หรือ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินต่าง ๆ ทีเปิดให้ซื้อตราสารหนี้ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย หรือ ตราสารหนี้ scb เป็นต้น โดยสามารถตรวจสอบทางออนไลน์ หรือติดต่อสอบถามทางสถาบันการเงินนั้น ๆ โดยตรง
ท่ามกลางสภาวะตลาดการเงินผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ตราสารหนี้ ถือว่าเป็นอีกการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะราคาและผลตอบแทนจากตราสารหนี้จะเคลื่อนไหวตรงกันข้ามกับทิศทางของหุ้น ช่วยลดความเสี่ยงให้กับนักลงทุนที่มีหุ้นอยู่ในพอร์ต อีกทั้งตราสารหนี้เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ จึงเปรียบเสมือนเป็นตัวช่วยชั้นดีให้กับนักลงทุนอีกตัวหนึ่งเลยทีเดียว