Written by 2:54 am น่าสนใจ, ไลฟ์สไตล์

การแต่งตัวของเรา กำลังทำร้ายโลกอยู่หรือเปล่า? 

รู้หรือไม่ การแต่งตัวของเรา คือ หนึ่งในตัวการทำลายระบบธรรมชาติ และยังเป็นส่วนที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน?  

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? เพราะในปัจจุบัน เสื้อผ้า ผลิตออกมามากมายเพื่อสนองต่อกระแส Fast Fashion 

Fast Fashion คืออะไร ?  Fast Fashion คือ การผลิตเสื้อผ้าออกมาให้ตามกระแสของแฟชั่นให้เร็วที่สุด  ยิ่งปัจจุบันนี้ การแข่งขันในวงการแฟชั่นสูงและดุเดือดมาก ชนิดที่เห็นนางแบบใส่เสื้อผ้าโชว์ในงานใหญ่ ๆ เพียงไม่กี่วัน ก็จะเห็นเสื้อผ้าตามที่นางแบบใส่วางขายในท้องตลาด โดยมีหลากหลายเรทราคาให้เลือก ตามกำลังของผู้บริโภค ทำให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย แม้จะเป็นข้อดีของการจับต้องได้อย่างทั่วถึง แต่ขณะเดียวกัน ทำให้เกิดวัฒนธรรม ใช้แล้วทิ้ง เพราะเสื้อผ้ามีราคาถูก หาซื้อง่ายขึ้น และกระแสนิยมแฟชั่นที่เปลี่ยนไปเร็วมาก เพียงแค่ในเวลา 1-2 เดือนก็เปลี่ยนแล้ว ทำให้ทั้งกระบวนการผลิต และกระบวนการทำลายเสื้อผ้า มีมากขึ้น จนแรงงานกลายเป็นที่ต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจสิ่งทอจำนวนมาก 

เสื้อผ้าราคาถูกขึ้น แถมแฟชั่นก็มาเร็ว แป๊บ ๆ ก็ไป ทำให้ผู้คนหันมานิยมซื้อเสื้อผ้าถูก ๆ เพื่อทิ้งได้ง่าย ไม่เสียดาย อุตสาหกรรมเสื้อผ้าจึงผลิตเสื้อผ้าออกมาเพื่อให้ตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภค ด้วยวัตถุดิบราคาถูก โดยส่วนใหญ่จะเป็นใยสังเคราะห์ อย่าง โพลีเอสเตอร์ ที่สังเคราะห์มาจากถ่านปิโตรเลียม น้ำ และ อากาศ  ที่ย่อยสลายตามธรรมชาติไม่ได้ แต่ทำลายได้ด้วยการ เผา เท่านั้น และการกำจัดด้วยการเผาก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวประกอบหลักของ ก๊าซเรือนกระจก ยิ่งแฟชั่นเสื้อผ้าเปลี่ยนไปเร็วมากเท่าไร การผลิตและการเผาทำลายก็มากตามไปด้วย 

ไม่เพียงแค่นั้น ในโพลีเอสเตอร์มีสารสังเคราะห์ ไมโครพลาสติก ที่มีลักษณะเส้นใยบาง ๆ ที่เมื่อซักล้างแล้วเส้นใยนี้จะหลุดไปกับน้ำและไหลลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ จนกลายไปเป็นอาหารปลา ดังที่เราได้ยินข่าวว่ามีคนพบไมโครพลาสติกในกระเพาะปลา และมีแนวโน้มว่าอยู่ในกระเพาะสัตว์น้ำไปแล้วมากมาย  เพราะเสื้อผ้าที่เราใส่กันส่วนใหญ่จะผลิตจากโพลีเอสเตอร์ ไม่ว่าจะจำหน่ายในห้างใหญ่ หรือแขวนขายตามตลาดนัดก็ตาม เพราะเป็นวัตถุดิบราคาถูก สามารถผลิตเสื้อผ้าให้ตอบโจทย์กับกระแส fast fashion ที่มาเร็วไปเร็ว แต่ผลเสียที่มีต่อสิ่งแวดล้อมจะคงอยู่อย่างเงียบ ๆ และถาวร ที่กว่าพวกเราจะรู้ตัวอีกที ก็แทบสายไปแล้ว 

ตราบใดที่ยังคงมีการบริโภคแบบ Fast Fashion แฟชั่นกับสิ่งแวดล้อมไม่สามารถไปด้วยกันได้ มีเพียงแต่ปัญหาเสื้อผ้าล้นโลก และทำลายธรรมชาติไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด จนกว่าจะหันมาให้การตอบรับ และร่วมมือกับกระแส Slow Fashion เพื่อให้เสื้อผ้ารักษ์โลกมากขึ้น เพราะถ้าจะให้ผู้คนเลิกซื้อเสื้อผ้าขั้นเด็ดขาดเลย ไม่ใช่เรื่องง่าย 

Slow Fashion คือ กระแสที่ผู้คนหันมาใส่เสื้อผ้าชุดเดิมให้นานขึ้น เปลี่ยนแฟชั่นให้ช้าลง ซื้อเสื้อผ้าให้น้อยลง เพื่อลดปริมาณการผลิต เพราะทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมโรงงานมีการปล่อยก๊าซพิษและสารเคมีสู่ชั้นบรรยากาศ ซึมลงสู่ผืนดิน และ แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือซื้อเสื้อผ้ามือสอง เพื่อลดการทำลายเสื้อผ้าด้วยการเผาให้เหลือน้อยลง รวมไปถึงการเรียกร้องให้อุตหสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าด้วยวัตถุดิบที่ไม่ส่งผลเสียต่อธรรมชาติ โดยผู้ที่ริเริ่มคำว่า Slow Fashion คนแรก คือ Kate Fletcher (เคท เฟลทเชอร์) ศาสตราจาย์ด้านความยั่งยืนการออกแบบแฟชั่น จาก University of the Arts London’s Center for Sustainable Fashion โดยมีจุดประสงค์เพื่อเรียกร้องให้วงการแฟชั่น รวมไปถึงผู้บริโภคมีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

คอนเซ็ปต์ของ Slow Fashion คือ เสื้อผ้าที่มีความคงทน ใส่ได้นานที่สุด ผ้าที่ผลิตจากวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับธรรมชาติให้มากที่สุด เป็นเส้นใยพืชธรรมชาติ หรือเน้นผลิตแบบ zero waste (ดังนั้น พวก โพลีเอสเตอร์ ไนลอน สแปนเด็กซ์ ที่ต้องใช้น้ำมันจำนวนมากในการผลิต จึงไม่เข้าข่าย เสื้อผ้ารักษ์โลก รวมไปถึงเสื้อผ้าขนสัตว์ และเสื้อผ้าหนังสัตว์ด้วย เพราะเป็นการเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น ทำร้ายธรรมชาติเช่นกัน)  

เมื่อเทรนด์รักษ์โลกมาแรง ทำให้โครงการของหลาย ๆ แบรนด์เสื้อผ้ารักษ์โลก ที่มักอวดอ้างว่าขั้นตอนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ซื้อรู้สึกสบายใจและต้องการมีส่วนร่วมในการรักษ์โลก ด้วยการอุดหนุนในแบรนด์ แต่นั่นเป็นเพียงการชวนเชื่อเท่านั้น แต่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม ดังนั้น การเลือกใช้และสนับสนุนเสื้อผ้าที่มีกระบวนการผลิตแบบครบจบในท้องถิ่นก็นับว่าเข้าข่ายของ Slow Fashion เพราะไม่ต้องผ่านกระบวนการขนส่ง ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากระบบโลจิสติกส์ไปได้จำนวนมากเลยทีเดียว 

เสื้อผ้าที่มีราคาแพง จะช่วยให้ผู้บริโภครู้จักเสียดายและเก็บไว้ใช้นาน ๆ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นคำตอบที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุด เพราะยังมีคนหาเช้ากินค่ำ ที่มีค่าแรงขั้นต่ำแต่ภาระค่าใช้จ่ายสูงเกินกำลังจะซื้อเสื้อผ้าแพง ๆ ไหว ดังนั้น การซื้อเสื้อผ้ามือสอง ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ช่วยตอบโจทย์ได้ดีกว่า รวมไปถึงการเลือกซื้อเสื้อผ้าที่มีคุณภาพ เพื่อให้มีอายุการใช้งานได้นาน ใส่ได้ทน เพราะมีการทำ slow fashion วิจัยออกมาแล้วว่า การใส่เสื้อผ้าให้นานขึ้นอีก 9 เดือน ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในส่วนของการผลิตเสื้อผ้าได้ถึง 30% เลยทีเดียว 

ดังนั้น หากต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการรักษ์โลกและลดปัญหาเสื้อผ้าล้นโลก วิธีที่เหมาะกับคนในยุคเศรษฐกิจปัจจุบัน คงต้องใช้หลัก Slow Fashion ด้วยการเลือกซื้อผ้าที่มีคุณภาพมีอายุการใช้งานได้นาน  ใช้เสื้อผ้าเดิมที่มีให้นานที่สุด เลือกซื้อผ้ามือสอง และเลือกผ้าที่มีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

(Visited 134 times, 1 visits today)
Close