สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาประกาศเตือนผู้บริโภคให้ระวังเสี่ยงโรคท้องร่วง หลังจากที่ตรวจพบเชื้อโคลิฟอร์ม-อี โคไล (Escherichia coli) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบในอุจจาระ ปนเปื้อนในน้ำแข็งหลอดสำหรับรับประทานของบริษัทแห่งหนึ่งย่านวัชรพล แล้วเจ้าเชื้อโคลิฟอร์ม อี โคไล คืออะไร หากมีเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในน้ำดื่มจะส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร หาคำตอบได้จากในบทความนี้เลยค่ะ
โคลิฟอร์มคืออะไร
โคลิฟอร์ม คือ กลุ่มแบคทีเรียแกรมลบ มีรูปร่างเป็นท่อน ไม่สร้างสปอร์ เจริญเติบโตได้ทั้งที่มีอากาศและไม่มีอากาศ สามารถพบโคลิฟอร์มได้ในแหล่งธรรมชาติ ดิน น้ำ และในลำไส้ของสัตว์เลือดอุ่น และหากมีการปนเปื้อนโคลิฟอร์มในน้ำดื่มหรืออาหารมากเกินไป แสดงว่าอาหารหรือน้ำดื่มไม่สะอาด มีเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
ประเภทของโคลิฟอร์ม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1. Fecal coliform หรือ ฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย คือ โคลิฟอร์มที่พบในอุจจาระของมนุษย์และสัตว์เลือดอุ่น เพราะอาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ ได้แก่ เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli , E.coli)
2. Non-fecal coliform หรือ นันฟีคัลโคลิฟอร์ม คือ กลุ่มโคลิฟอร์มอาศัยอยู่ในดินและพืช มีความเป็นอันตรายน้อยกว่าฟีคอลโคลิฟอร์มกลุ่มแรก
ดังนั้นเชื้อโคลิฟอร์มเกิดจากการที่มีโคคลิฟอร์มในปริมาณมากเกินไป บ่งชี้ว่าอาหารหรือน้ำนั้นไม่สะอาด ไม่ถูกสุขอนามัย อาจมีการปนเปื้อนของอุจจาระ
กลุ่มโคลิฟอร์มแบคทีเรียมีอะไรบ้าง
- Escherichia
- Citrobacter
- Enterobacter
- Hafnia
- Klebsiella
- Serratia
คุณสมบัติของเชื้อโคลิฟอร์ม
ก่อให้เกิดเน่าเสียของอาหาร ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อจากอาหาร เช่น ท้องร่วง ท้องเสีย เป็นไข้ ปวดศีรษะ และอาจเสียชีวิตได้ และสามารถใช้เป็นแบคทีเรียชี้แนะ (Bacteriological indicator) ตรวจสอบมาตรฐานโคลิฟอร์มในอาหารและการปนเปื้อนของน้ำได้ เช่น เอ.แอโรจิเนส (A.aerogenes)
โรคที่เกิดจากโคลิฟอร์มแบคทีเรีย
อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีไข้ ปวดท้อง ท้องร่วง ท้องเสีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
วิธีป้องกันและการกำจัด coliform
- ผ่านกระบวนการความร้อน เพราะโคลิฟอร์มแบคทีเรียมีชีวิตอยู่ในน้ำได้นานกว่าจุลินทรีย์อื่น ๆ แต่ไม่ทนความร้อน เช่น ต้มน้ำดื่มให้เดือด ส่วนอาหารปรุงสุกก็นำไปอุ่นก่อนรับประทาน
- ผ่านระบบกรองน้ำที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ใช้คลอรีนฆ่าเชื้อในน้ำ โดยความเข้มข้นอยู่ที่ประมาณ 0.2 – 0.5 ppm
- เก็บอาหารปรุงสุกที่อุณหภูมิต่ำ หลีกเลี่ยงการเก็บอาหารไว้ในบริเวณที่มีอากาศร้อน 4-55 องศา
- แยกการเก็บประเภทอาหาร อาหารปรุงสุก อาหารพร้อมปรุง และอาหารดิบ เพื่อป้องกันการปนเปื้อน
- ผลิตอาหารและปรุงให้ถูกสุขลักษณะตามหลัก GMP (Good Manufacturing Practise)