องค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้ตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 หรือฝุนละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน (Particulate Matter) ในอากาศ หากเกิน 25 ไมโครกรัม / ลูกบาศก์เมตร ถือว่ามีผลเสียที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา หรือกระตุ้นโรคเดิมให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นได้ โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจและปอด โรคหัวใจ และโรคสมอง ซึ่งโรคที่มาพร้อมกับฝุ่น PM 2.5 ที่พบได้บ่อย ได้แก่

1. โรคภูมิแพ้ (Allergic rhinitis)
ละอองฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ประกอบไปด้วยสารพิษต่าง ๆ เช่น โลหะหนัก ก่อให้เกิดการระคายเคืองในเยื่อบุโพรงจมูก และทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้หายใจไม่สะดวก และอาการภูมิแพ้กำเริบได้

2. โรคหอบหืด (Asthma)
โรคที่เกี่ยวกับเยื่อบุหลอดลมอักเสบ ทำให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ได้ง่าย ซึ่งมลพิษทางอากาศอย่าง ฝุ่น PM 2.5 ก็เป็นอีกสาเหตุที่ก่อให้เป็นโรคนี้ได้ หรือกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบรุนแรง

3. โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
การหายใจเอาฝุ่นละอองเข้าไปในปอดจำนวนมาก จะส่งผลให้หลอดลมใหญ่อักเสบเฉียบพลัน จนทำให้เกิดเสมหะมากขึ้นและมีอาการไอ เมื่อภูมิต้านทานของหลอดใหญ่ลดลง จะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสได้ง่าย

4. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia)
มลพิษจากฝุ่นละอองอนุภาคขนาดเล็กที่สูดเข้าไปในกระแสเลือด สามารถไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว และน้ำท่วมปอดได้

5. โรคหัวใจขาดเลือด (Heart attack)
ผู้ป่วยโรคหัวใจตีบ หรือ มีภาวะไขมันในเส้นเลือดสูง ไขมันอุดตัน เมื่อสูดหายใจเอาฝุ่นพิษ PM 2.5 เข้าไป ในกระแสเลือด จะทำให้เกิดการอักเสบ ก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่ทำให้หลอดเลือดอุดตัน และนำไปสู่หัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้

6. โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
มลพิษในอากาศที่สูดเข้าไป ทำให้เส้นเลือดในสมองแข็งตัว การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก เนื่องจากเลือดหนืดและข้น อีกทั้งยังทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เป็นปัจจัยต่อภาวะสมองขาดเลือด จนกลายเป็นอัมพฤกษ์ หรือ อัมพาต