Written by 3:12 am กำลังมาแรง, น่าสนใจ

แนะวิธีช่วยเหลือคนถูกไฟฟ้าช็อตอย่างไรให้ปลอดภัย

ช่วงหน้าฝนที่มีฝนตกบ่อยมักจะมีอุบัตเหตุไฟช็อต ไฟดูดจากกระแสไฟฟ้ามากเป็นอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว อย่างล่าสุดที่มีเด็กนักเรียนถูกไฟดูดด้วยกันถึง 2 ราย และมีพลเมืองดีซึ่งยังเป็นเยาวชนได้เข้าทำการช่วยเหลือจนได้รับความปลอดภัย แต่คนที่เข้าไปทำการช่วยเหลือเองก็โดนไฟดูดจนต้องเข้าทำการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเช่นกัน วันนี้เราจึงนำวิธีช่วยเหลือคนถูกไฟฟ้าดูดอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งต่อตัวคนช่วยและผู้บาดเจ็บมาแนะนำ เผื่อเจอผู้ประสบภัยกระทันหัน หรืออาจเป็นคนใกล้ตัว เพราะอุบัติภัยเกี่ยวกับไฟฟ้าช่วงหน้าฝนนับว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีน้ำเป็นตัวเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้า ดังนั้นการรู้และเข้าใจวิธีการช่วยเหลืออย่างถูกต้องจึงจำเป็นมาก

อาการหลังจากถูกไฟฟ้าดูด 

เมื่อถูกกระแสไฟฟ้าดูด กระแสไฟจะไหลผ่านหัวใจทำให้หัวใจเต้นอ่อนลงจนหยุดทำงาน ส่งผลให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะส่วนอื่น ๆ เช่น ระบบประสาท อวัยวะในช่องท้อง กล้ามเนื้อ กระดูก เป็นต้น หากได้รับกระแสไฟฟ้าแรงสูง จะทำให้เนื้อเยื่อที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านถูกทำลายอย่างรุนแรง หรืออาจมีอาการบาดเจ็บในบริเวณช่องท้อง บางคนอาจมีอาการชักเกร็งของกล้ามเนื้อร่วมด้วย หายใจเร็ว หมดสติ และหยุดหายใจ 

วิธีช่วยคนถูกไฟดูดให้ปลอดภัย 

  1. มีสติ แม้ว่าจะเป็นสถานการณ์เร่งด่วนและฉุกเฉิน แต่ “สติ” นั้นสำคัญมาก เราจะต้องควบคุมสติให้มากที่สุด เพื่อประเมินสถานการณ์อย่างรวดเร็ว สอดส่องหาต้นเหตุจะได้แก้ไขได้ถูกและไม่เข้าไปใกล้จนได้รับอันตรายไปด้วยอีกคน 
  1. รีบทำการแจ้งเจ้าหน้าที่ หรือติดต่อ 1669 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้รีบมาทำการช่วยเหลือ หรือให้มีคนโทรแจ้ง ในขณะที่เราหาทางช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเบื้องต้น 
  1. ตัดกระแสไฟฟ้าทันที เช่น ถอดปลั๊กหรืออ้าสวิตซ์ออก หากเป็นสายไฟฟ้าแรงสูงสาธารณะ ให้รีบแจ้ง 1129 การไฟฟ้าฯ เพื่อให้ตัดการจ่ายกระแสไฟบริเวณนั้น ส่วนกรณีที่ผู้ถูกไฟดูดอยู่ในน้ำขัง ผู้ช่วยเหลืออย่าลงไปในน้ำเด็ดขาด และห้ามเข้าไปช่วยด้วยมือเปล่าทันที เพราะอาจได้รับอันตรายไปด้วย แต่ให้เขี่ยสายไฟออกให้พ้นหรือตัดกระแสไฟฟ้าให้เร็วที่สุด 
  1. รีบนำตัวผู้บาดเจ็บออกจากสถานที่นั้นโดยเร็ว ด้วยวัตถุที่ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น ผ้าแห้ง เชือก สายยาง ไม้ หรือพลาสติกแห้งสนิท ดึงตัวผู้บาดเจ็บออกมาให้พ้นบริเวณที่มีกระแสไฟฟ้า หรือนำผ้าแห้งพันมือให้หนา ๆ แล้วจึงค่อยฉุดหรือดึงผู้บาดเจ็บให้หลุดออกมาโดยเร็ว 
  1. ทำการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเบื้องต้น ระหว่างรอทีมหน่วยกู้ภัย ให้สังเกตผู้เคราะห์ร้าย หากพบว่ามีอาการหน้าเซียว เขียวคล้ำ ริมฝีปากซีด หมดสติ ไม่รู้สึกตัว หรือหัวใจหยุดเต้นและไม่หายใจ ต้องรีบทำการปฐมพยาบาล หรือทำ CPR เพื่อช่วยชีวิตอย่างถูกวิธี หรือนวดหัวใจเพื่อให้ผู้บาดเจ็บกลับมาหายใจ (ในพื้นที่แห้ง) จนกว่าหน่วยแพทย์จะมารับตัวและทำการรักษาในขั้นตอนต่อไป 

การช่วยผู้ประสบอันตรายจากไฟฟ้าจำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้ “3 ร” ได้แก่ “รอบคอบ รวดเร็ว ระมัดระวัง” อย่างเป็นพิเศษ 

ผู้ประสบเหตุไฟฟ้าดูดจึงต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร็วและเร่งด่วนที่สุด เพราะมีความเสี่ยงต่อชีวิตสูง และหากผู้บาดเจ็บหยุดหายใจและได้รับการช่วยเหลือช้าเกินกว่า 4 นาที จะส่งผลต่อระบบประสาทและอาจหมดหนทางในการฟื้นคืน

(Visited 50 times, 1 visits today)
Close