ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน มีการสร้างขยะเกิดขึ้นแทบทุกชั่วโมง ตั้งแต่ลืมตาตื่น ตลอดวันไปจนกระทั่งก่อนเข้านอน มีขยะหลากหลายประเภทที่เราทุกคนร่วมกันสร้างและทิ้งในแต่ละวัน โดยเฉลี่ยต่อคน อาจมากกว่า 200 กิโลกรัม / ปี เพราะแนวโน้มปริมาณขยะที่ถูกทิ้งในแต่ละปีนั้นเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นปัญหาขยะล้นโลก
แต่ถ้าหากขยะแต่ละประเภทมีการนำไปกำจัดให้ถูกวิธีและเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการนำขยะไปรีไซเคิล เพื่อลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตขึ้นมาใหม่ การนำขยะไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล สาเหตุที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดปริมาณขยะที่ถูกนำส่งไปยังหลุมฝังกลบ (Landfill) ย่อมไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่ม จึงเป็นการช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกได้อย่างยั่งยืน
ด้วยเหตุนี้จึงมีโครงการต่าง ๆ เพื่อรณรงค์และขอความร่วมมือในการแยกขยะ รวมถึงโครงการไม่เทรวม ซึ่งทางกทม.ได้นำร่องมาแล้วระยะหนึ่ง ด้วยการจัดตั้งถังแยกขยะแต่ละประเภทไว้ให้หลายจุดด้วยกัน เป็นการแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะทั่วไป เพื่อการจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปริมาณขยะไปสู่หลุมฝังกลบให้ได้น้อยลงที่สุด จนกว่าจะสามารถกลายเป็นศูนย์ ไปดูกันดีกว่าว่า การแยกประเภทขยะมีอะไรบ้าง
แยกประเภทขยะรีไซเคิล
เป็นการแยกวัสดุที่นำไปรีไซเคิลได้ เช่น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก กระป๋อง อลูมิเนียม เหล็ก และกระดาษ โดยขยะรีไซเคิลที่เป็นภาชนะควรทำความสะอาดเสียก่อน เทน้ำหรือของเหลวภายในออกให้หมด เช็ดให้แห้ง ไม่ควรทิ้งโดยปล่อยให้เหนียวเหนอะหนะ เพราะจะทำให้มดและแมลงต่าง ๆ มาขึ้นและตอม อาจกลายเป็นแหล่งรวมพาหะนำโรค และขยะเหล่านั้นยังต้องเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล จึงควรทำความสะอาดและเช็ดให้แห้งก่อนทิ้ง
แยกประเภทขยะพลังงานเชื้อเพลิง
ขยะประเภทพลาสติกแบบซิงเกิลยูสชิ้นเล็ก ๆ เช่น ช้อน – ส้อมพลาสติก หลอดพลาสติก กล่องกระดาษใส่อาหาร โฟม ซองขนม ซองเครื่องปรุงต่าง ๆ โดยขยะเหล่านี้เรียกรวม ๆ กันว่า “ขยะกำพร้า” เป็นขยะ Low – Value ซึ่งเป็นขยะที่มีคุณค่าต่ำ แต่สามารถนำไปเผาเป็นพลังงานทดแทนได้ เช่น ก๊าซชีวภาพ น้ำมัน พลังงานไฟฟ้า และอื่น ๆ ช่วยลดปริมาณขยะ ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และได้ใช้พลังงานสะอาดอีกด้วย แต่ต้องล้างหรือเช็ดทำความสะอาด และตากให้แห้งก่อนทิ้งลงถัง เพื่อลดกลิ่นรบกวน และป้องกันมดแมลงรวมถึงสัตว์อื่น ๆ รื้นค้นหรือเข้าถังขยะ
แยกประเภทขยะอันตราย
ขยะอันตราย ได้แก่ ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ กระป๋องสเปรย์ ของมีคมทุกประเภท เช่น ใบมีด เศษกระจก หรือ กลุ่มสารเคมีทุกชนิด โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์จำพวก สารไวไฟ รวมไปถึงที่มีระบุไว้ชัดเจนว่า “ห้ามเผา” ขยะเหล่านี้จะต้องคัดแยกเพื่อนำไปกำจัดด้วยวิธีเฉพาะทาง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอันตราย และลดการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศให้น้อยที่สุด
แยกประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์
วัสดุ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด จะต้องห่อให้มิดชิดก่อนทิ้งลงถัง เพื่อลดความเสี่ยง และป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย ไม่ว่าจะเป็นสายโทรศัพท์ สายชาร์จ โทรศัพท์มือถือ หูฟัง คีย์บอร์ด ลำโพง พาวเวอร์แบงค์ แบตเตอรี่ โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ไม่ควรทิ้งปะปนกับขยะอื่น ๆ โดยเฉพาะขยะอันตรายเช่น ถ่านไฟฉาย หรือกระป๋องสเปรย์ เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ที่ก่อให้เป็นอันตรายได้ เช่น การปะทุ การระเบิด และหากเป็นไปได้ ควรแยกส่งไปยังจุดรับขยะเฉพาะทาง เพื่อให้สถานที่นั้น ๆ สามารถแยกชิ้นส่วนสำหรับส่งไปกำจัดให้เหมาะสม และในส่วนที่นำกลับมาใช้ใหม่
แยกประเภทขยะติดเชื้อ
ประเภทขยะติดเชื้อ เช่น เข็มฉีดยา ผ้าก๊อซ ผ้าซับเลือด หน้ากากอนามัย ถุงมือ กระดาษทิชชู่ที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งต่าง ๆ ขยะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือกระจายการติดต่อโรค ขยะประเภทนี้จะต้องห่อให้มิดชิด และแยกทิ้งต่างหาก โดยทิ้งในส่วนที่รับขยะติดเชื้อโดยตรง เพื่อให้นำไปทำลายและกำจัดให้ถูกวิธี เพื่อปัองกันการแพร่กระจายเชื้อโรค
แยกประเภทขยะปนเปื้อน
ขยะปนเปื้อน เช่น ภาชนะอาหารที่เปื้อน แก้วน้ำเลอะ ถุงเลอะแกง ซองขนมเลอะ ๆ ทิชชูเปื้อนคราบต่าง ๆ ที่ไม่สามารถล้างทำความสะอาดได้ จะถูกนำไปกำจัดในรูปแบบที่เหมาะสม โดยบางชนิดสามารถเช็ดหรือล้างทำความสะอาด แล้วนำไปทิ้งลงถังเผาเป็นพลังงานได้ ดังนั้น หากสามารถทำได้ ควรแยกประเภทขยะให้ดี ๆ ทำความสะอาดขยะเหล่านี้ก่อนแยกทิ้ง เพื่อช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องส่งไปยังหลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์
แยกประเภทขยะเศษอาหาร
การทิ้งเศษอาหารในแต่ละมื้อ ทั้งข้าว แกง ต้มยำ ผัก ผลไม้ ขนม นมเนย ควรแยกทิ้งลงในถังเขียว โดยจะต้องไม่ใส่ภาชนะลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น โฟม จาน ชาม ช้อนส้อม หลอด ถุงหิ้ว ถ้วยน้ำจิ้ม หรือไม้เสียบลูกชิ้น จะต้องแยกออกต่างหาก เพราะถังเขียวแยกสำหรับการจัดการขยะเศษอาหารเท่านั้น โดยจะมีการนำขยะจากเศษอาหารในถังส่งต่อไปยังเกษตรกร เพื่อใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ หรือทำปุ๋ยหมัก เพื่อลดต้นทุนการสั่งซื้อปุ๋ย และลดการใช้ปุ๋ยเคมี
การแยกขยะ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ช่วยลดปริมาณขยะไปสู่หลุมฝังกลบ ที่เป็นศูนย์ใหญ่แห่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนส่งผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน แม้ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ดี แต่เราสามารถลดการเกิดขยะได้ตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะขยะอาหาร ที่สามารถลดการเกิดขยะให้เป็นศูนย์ได้ตั้งแต่ต้นทาง ด้วยวิธีต่อไปนี้
- วางแผนการซื้อวัตถุดิบให้พอดี
- เก็บวัตถุดิบให้ถูกวิธี เพื่อป้องกันการเน่าเสียเร็ว
- เก็บรักษาวัตถุดิบให้เหมาะสม
- ตรวจสอบวันใกล้หมดอายุของอาหารอยู่เสมอ
- นำของใกล้หมดอายุมาทำอาหารก่อน
- นำอาหารเหลือมาครีเอทเมนูใหม่
- ตักอาหารแต่พอดี กินให้หมดจานทุกครั้ง
- แบ่งปันอาหารที่กินไม่ทันให้คนยากไร้
- นำอาหารเหลือทิ้งให้เป็นอาหารสัตว์
- กำจัดขยะเศษอาหารด้วยการทำปุ๋ยหมักโดยเครื่องหมักปุ๋ย (เช่นเครื่องย่อยเศษอาหารอัตโนมัติจาก Hass Thailand)
- ทำน้ำหมักชีวภาพรดน้ำต้นไม้
รู้ถึงการแยกขยะแต่ละประเภทแล้ว อย่าเผลอเทรวม ไม่ทิ้งขยะผิดถัง ลดการเกิดขยะใหม่ และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดขยะอาหารจากต้นทางไปสู่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ได้อย่างแน่นอน