สำหรับผู้มีเงินได้ทั่วไปจะต้องมีการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม โดยจะมีทั้งยื่นแบบภงด.91 ด้วยตนเองที่กรมสรรพากร ยื่นแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ แต่จะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ขั้นตอนการยื่นภาษีเงินได้ ภงด.91 มีอะไรบ้าง เรามีข้อมูลมาให้ในบทความนี้แล้ว
ใครต้องยื่นภาษีบ้าง
- บุคคลธรรมดา
- ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล
- ผู้ที่เสียชีวิตระหว่างปีภาษี
- กองมรดกที่ยังไม่มีการแบ่ง
- วิสาหกิจชุมชน ตามกกหมายที่ว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
แบบ ภงด.90 คืออะไร และ ภงด.91 คืออะไร
- แบบ ภ.ง.ด.90 คือ ผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ เช่น เงินปันผล เงินจากการค้าขายแบบบุคคลธรรมดา
- แบบ ภ.ง.ด.91 คือ ผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือน ไม่มีรายได้อื่นเสริม เช่น พนักงานบริษัทที่รับเงินค่าจ้างเป็นรายเดือนอย่างเดียว
ตารางการเสียภาษีคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของเงินได้สุทธิ / ปี
เงินได้สุทธิ / ปี (บาท) | อัตราภาษีเงินได้ (%) |
0 – 150,000 บาท | ยกเว้นภาษี |
150,000 – 300,000 | 5% |
300,001 – 500,000 | 10% |
500,001 – 750,000 | 15% |
750,001 – 1,000,000 | 20% |
1,000,001 – 2,000,000 | 25% |
2,000,001 – 5,000,000 | 30% |
5,000,001 ขึ้นไป | 35% |
เอกสารยื่นภาษีบุคคลธรรมดามีอะไรบ้าง
- หนังสือรับรองเงินเดือน (50 ทวิ) จากนายจ้าง ซึ่งเป็นเอกสารยื่นภาษีที่ระบุรายได้รวม และการหักชำระกองทุนหรือเงินทุนสำรองต่าง ๆ
- เอกสารลดหย่อนภาษี เช่น ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา ค่าเลี้ยงดูบุตร เบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันสุขภาพ ยอดเงินการซื้อกองทุนต่าง ๆ
ยื่นภาษีที่ไหนได้บ้าง
บางคนอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าสามารถยื่นภาษีที่ไหนก็ได้ใช่ไหม แต่ที่จริงแล้วสถานที่สามารถยื่นภาษีบุคคลธรรมดานั้นได้แก่
- สำนักงานสรรพากรทุกพื้นที่
- หน่วยงานบริษัทที่สังกัดยื่นให้
- ยื่นภาษีออนไลน์ด้วยตนเอง
ขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์
- เข้าไปที่เว็บไซต์ www.rd.go.th และคลิกไปที่ “ยื่นออนไลน์”
- กดคลิกที่ “ยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90/91”
- เข้าสู่ระบบ Login ด้วยหมายเลขบัตรประชาชน และรหัสผ่าน
- ตรวจสอบข้อมูลและให้รายละเอียดอย่างถูกต้อง ครบถ้วน
- คลิก “ทำรายการต่อไป”
- เลือก “สถานภาพผู้มีเงินได้” และกรอกข้อมูลอื่น ๆ ตามจริง
- คลิก “ ทำรายการต่อไป”
- เลือก “รายการเงินได้พึงประเมิน” จากที่มาของรายได้
- เลือก “เงินได้ที่ได้รับยกเว้น / ค่าลดหย่อน”
- คลิก “ทำรายการต่อไป”
- กรอกตามข้อมูลจากหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ ใบทวิ 50 จากบริษัทผู้ว่าจ้าง เมื่อกรอกลงในช่องครบถ้วน จากนั้นคลิกที่ “ทำรายการต่อไป”
- ใส่ข้อมูลค่าลดหย่อนตามเงื่อนไขที่คุณมี แล้วคลิก “ทำรายการต่อไป”
- เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วน ทางเว็บไซต์กรมสรรพากรจะคำนวณและแสดงภาษีที่เราต้องจ่าย รวมถึงส่วนที่ต้องได้คืน จากนั้นคลิก “ทำรายการต่อไป”
- ตรวจสอบข้อมูลให้เรียบร้อย แล้วคลิก “ทำรายการต่อไป”
- กรณีที่ต้องการขอคืนภาษี ทางกรมสรรพากรจะห้พิมพ์แบบเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งสามารถโหลดเอกสารได้ที่ “นำส่งเอกสารขอคืนภาษี” ได้ทันที หลังจากตรวจสอบการยื่นภาษีเสร็จเรียบร้อย
ยื่นภาษีออนไลน์ได้ถึงวันไหน
ยื่นภาษีแบบออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เมษายนของทุกปี และสามารถยื่นภาษีแบบกระดาษได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี เพื่อลดหย่อนภาษี หรือขอคืนภาษีที่เสียไปแล้ว
หากยื่นภาษีไม่ทันทำอย่างไร มีค่าปรับยื่นภาษีล่าช้าหรือไม่
- หากยื่นภาษีไม่ทันในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องนำเอกสารยื่นภาษีไปยื่นด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรใกล้บ้าน ซึ่งจะมีโทษการปรับเนื่องจากไม่ยื่นภาษีภายในเวลาที่กำหนด
- กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ภายในเวลาที่กำหนด จะต้องระวงโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
- กรณีฉ้อโกง จงใจแจ้งความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 – 200,000 บาท
- กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ