การเป็นหนี้เป็นเรื่องธรรมดาของคนในยุคปัจจุบัน เพราะแต่ละคนย่อมมีเหตุผลจำเป็นในการเป็นหนี้ที่ต่างกัน การวางแผนและบริหารจัดการหนี้อย่างเป็นระบบ จะช่วยให้หนี้ที่มีอยู่ไม่กระทบกับการดำรงชีวิต และถ้าหากไร้การวางแผนให้ดี อีกทั้งบริหารการจัดการหนี้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะสร้างปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้ ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจสร้างหนี้ขึ้นมา ควรสำรวจก่อนว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่จะต้องทำก่อนเป็นหนี้
1. ความจำเป็นในการมีหนี้
การที่ใครสักคนยอมมีหนี้ย่อมต้องมีเหตุผลเสมอ เพียงแต่จะเป็นเหตุผลในด้านใด หากเป็นหนี้เพื่อทำธุรกิจก่อให้เกิดรายได้ นับว่าเป็นข้อดีของการเป็นหนี้ที่มีประโยชน์ สร้างความมั่นคงในระยะยาวให้กับชีวิต แต่ถ้าหากเป็นหนี้เพื่อการจับจ่ายซื้อข้าวของที่ไม่จำเป็น แต่ยอมเป็นหนี้บัตรเครดิตเพื่อซื้อของสนองความต้องการเท่านั้น นอกจากจะไม่ทำให้เกิดรายได้แล้ว ยังทำให้เป็นหนี้เยอะหาทางออกไม่ได้ การสร้างความลำบากให้กับการใช้ชีวิต
2. ควรเลือกประเภทสินเชื่อให้เหมาะกับความต้องการ
สินเชื่อมีหลายประเภทด้วยกัน ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อประกอบธุรกิจ เป็นต้น จึงควรสำรวจความต้องการของตัวเองให้ดีก่อนว่า จะขอสินเชื่อหรือสร้างหนี้ด้วยวัตถุประสงค์อะไรกันแน่ วงเงินที่จะใช้เท่าไร ตัวเองมีสินทรัพย์อะไรเป็นหลักประกันได้บ้าง เพราะสินเชื่อแต่ละแห่งและแต่ละประเภทจะมีความแตกต่างกัน ทั้งเงื่อนไขการอนุมัติ วงเงินสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาการผ่อนชำระ รวมไปถึงหลักประกันสำหรับการชำระหนี้
3. ตรวจสอบเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ
เพราะเงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อแต่ละแห่งจะแตกต่างกันไป จึงต้องอ่านรายละเอียด และทำความเข้าใจเงื่อนไข ข้อกำหนดต่าง ๆ ของวงเงิน และอัตราดอกเบี้ยตรงกับความต้องการของเราหรือไม่ โดยเปรียบเทียบข้อมูลของแต่ละธนาคาร เช่น วงเงิน อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาการจ่ายหนี้ เงื่อนไขต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมการอนุมัติวงเงิน ค่าธรรมเนียมการไถ่ถอนก่อนกำหนด ค่าอากรแสตมป์ ค่าประเมินราคาทรัพย์สิน ฯลฯ จากนั้นก็เลือกที่เหมาะสมกับตัวเองให้มากที่สุด
4. ประเมินความสามารถในการชำระหนี้และสภาพคล่องทางการเงินหลังจากจ่ายหนี้
ควรประเมินฐานะการเงิน ภาระค่าใช้จ่ายในปัจจุบันว่ามีอะไรบ้าง ไม่ว่าจะค่าบ้าน ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าผ่อนรถ หรือ การเสียภาษี เป็นต้น หากจะสร้างหนี้เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันหรือไม่ และศักยภาพในการชำระหนี้ทั้งหมด ว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ก่อนที่จะตัดสินใจก่อหนี้
โดยภาระในการผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือน ไม่ควรเกิน 45% ของเงินเดือน หรือรายได้รวมทั้งหมดต่อเดือน เพื่อให้เหลือเงินเพียงพอต่อการใช้ในการดำรงชีพ และพอมีเหลือแบ่งสำหรับการออมเงินเก็บ เช่น มีรายได้เดือนละ 30,000 บาท ควรมียอดผ่อนชำระหนี้ไม่เกิน 13,500 บาท (30,000 x 45%) เพราะถ้ามีภาระในการจัดการหนี้ในแต่ะละเดือนมากเกินไป จะทำให้มีโอกาสผิดชำระหนี้ได้ ทำให้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นเยอะขึ้น จนอาจต้องหากู้เงินเพิ่มเพื่อนำมาหมุน และติดอยู่ในวังวนของการเป็นหนี้ หรือที่เราเรียกกันว่า หนี้ท่วมหัว นั่นเอง
5. ประเมินความสามารถในการหารายได้และสภาพความมั่นคงของรายได้
ข้อนี้จะต้องไม่ลืมที่จะสำรวจก่อนสร้างหนี้ เพื่อจะได้มั่นใจว่าสามารถที่จะจ่ายหนี้ได้ตรงตามกำหนด เพราะการชำระให้ตรงเวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก หากเกินกำหนดจะเกิดดอกเบี้ยทันที ดังนั้น ก่อนที่จะสร้างหนี้ ควรประเมินฐานะ รายได้ที่แน่นอน รวมไปถึงความสามารถในการหารายได้อื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะสร้างหนี้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม แค่เพียงรู้จักวางแผน บริหารการจัดการหนี้ให้ดี ผ่อนชำระให้ตรงกำหนด การเป็นหนี้ ก็จะไม่ส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิต และ อาจกลายเป็นแรงผลักดันที่ช่วยให้ชีวิตมีระบบมากขึ้น หากรู้จักเป็นหนี้ให้ถูกวิธีเท่่านั้นเอง